ล้างจมูกถูกวิธี

ล้างจมูกถูกวิธี

การล้างจมูก เป็นวิธีทำความสะอาดโพรงจมูกด้วยการสวนล้างโดยใช้น้ำเกลือ เพื่อชำระสิ่งสกปรกอย่างน้ำมูก หรือสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ที่อยู่ภายในโพรงจมูกให้หมดไป ซึ่งสามารถลดปัญหาน้ำมูกไหลลงคอและอาการคัดจมูกได้ดี ช่วยให้โพรงจมูกมีความชุ่มชื้นขึ้น การหายใจจึงสะดวกขึ้น ทั้งนี้ต้องเป็นเด็กที่สามารถกลั้นหายใจและสั่งน้ำมูกเองได้แล้วจึงจะทำได้โดยไม่สำลัก

ประโยชน์ของการล้างจมูก

  • ช่วยกำจัดมูกเหนียวข้นที่ตกค้างอยู่ในโพรงจมูก ทำให้จมูกให้สะอาดขึ้น
  • บรรเทาอาการหวัดเรื้อรังให้ทุเลาลง
  • ป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคที่อยู่ภายในโพรงจมูก
  • ป้องกันการลุกลามของอาการไซนัสไม่ให้ลงไปยังปอด
  • ลดปริมาณเชื้อโรค ของเสีย และสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ
  • เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุโพรงจมูก
  • บรรเทาอาการแน่นจมูกหรือหายใจไม่ออก ให้หายใจโล่งขึ้น
  • บรรเทาอาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นในโพรงจมูก
  • เพิ่มประสิทธิภาพของยาพ่นจมูก เพราะยาจะทำงานได้ดีขึ้นเมื่อจมูกโล่งสะอาด

การล้างจมูก ควรทำก่อนใช้ยาพ่นจมูกเพื่อรักษาโรค หรือในกรณีที่เด็กป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับโพรงจมูก ควรทำการล้างจมูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคต่อไปนี้

ทั้งนี้หากสังเกตเห็นว่าเด็กมีน้ำมูกเหนียวข้นออกมามาก เด็กได้รับฝุ่นควัน หรือเผชิญกับสภาพอากาศที่มีมลภาวะสูงมา ก็ควรล้างจมูกให้เด็กด้วยน้ำเกลือ เช่นกัน

อุปกรณ์สำหรับการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

  • น้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% สามารถหาซื้อได้ที่โรงพยาบาลหรือร้านขายยาทั่วไป
  • ถ้วยสำหรับใส่น้ำเกลือ
  • กระบอกฉีดยาพลาสติก
  • สำหรับเด็กเล็ก ควรใช้ขนาด 5-10 cc.
  • สำหรับเด็กโต ควรใช้ขนาด 10-20 cc.
  • ภาชนะรองน้ำมูก หรือหากไม่ใช้ภาชนะ อาจล้างจมูกที่อ่างล้างหน้าก็ได้

ขั้นตอนการล้างจมูก

  • ล้างมือและอุปกรณ์ต่างๆ ให้สะอาด
  • เทน้ำเกลือลงในภาชนะที่เตรียมไว้
  • ใช้กระบอกฉีดยาพลาสติกดูดน้ำเกลือประมาณ 5-10 มิลลิลิตร จากนั้นโน้มตัวเหนือภาชนะรองรับ
  • พยายามจัดให้กระบอกฉีดแนบสนิทกับรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง จากนั้นกลั้นหายใจ ก้มหน้า อ้าปาก หรืออาจจะให้เด็กร้อง ‘อา…” โดยลากเสียงยาวๆ แทนก็ได้
  • ขณะกลั้นหายใจ ให้ค่อยๆ ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในรูจมูก เพื่อให้น้ำเกลือไหลผ่านเข้าไปในโพรงจมูกข้างที่สอดกระบอกฉีด และไหลผ่านออกทางรูจมูกอีกด้านหนึ่ง
  • หากมีน้ำมูกค้างอยู่ให้สั่งออกมาเบาๆ หรืออาจมีน้ำเกลือบางส่วนไหลออกมาทางปากแทนก็ให้บ้วนทิ้งไป
  • จากนั้นทำซ้ำที่จมูกอีกข้างหนึ่ง
  • อาจทำซ้ำจนกว่าจะรู้สึกหายใจโล่ง ไม่มีน้ำมูกเหลือก็ได้

ทั้งนี้สามารถล้างจมูกได้บ่อยๆ เมื่อมีอาการหายใจไม่ออกหรือคัดจมูก หรืออาจล้างวันละ 2-3 ครั้ง โดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน

โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน

โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน หลอดลมอักเสบแบ่งเป็นชนิดเฉียบพลัน กับชนิดเรื้อรัง ในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดเฉียบพลันก่อน หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งมักพบหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งจะมีอาการไอ มีเสมหะขาว บางครั้งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการถูกสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง เป็นต้น ซึ่งอาจทําให้มีอาการเรื้อรังได้ อาการ มีอาการไอ ซึ่งมักมีอาการมากตอนกลางคืน ระยะแรกจะไอแห้งๆ อาจมีเสียงแหบ และเจ็บหน้าอกเพราะไอมาก 4 - 5 วัน ต่อมาจะมีเสมหะเหนียวเป็นสีขาว(เชื้อไวรัส) หรือขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว(เชื้อแบคทีเรีย) ในเด็กอาจไอจนอาเจียน อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีก็ได้ บางคนอาจมีอาการหอบหืดร่วมด้วย เรียกว่า หืดจากหลอดลมอักเสบ (Asthmatic bronchitis) อาการแทรกซ้อน โรคนี้มักหายได้ภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อย ได้แก่ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หลอดลมพอง ถุงลมพอง การรักษา แนะนําให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มากขึ้น ควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ เพื่อช่วยให้เสมหะออกได้ง่ายขึ้น ไม่ควรดื่มน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง อาจทําให้ไอมากขึ้น ไม่ควรอยู่ในที่ ๆ มีอากาศเสียหรือฝุ่นละอองมาก ให้ยาขับเสมหะ ไม่ควรให้ยาแก้ไอชนิดกดการไอ เช่น ยาแก้ไอน้ำดํา ยาแก้ไอน้ำเชื่อม หรือยาโคเดอีน เพราะจะทําให้เสมหะเหนียว ขากออกยาก และอาจอุดกั้นหลอดลมเล็กๆทําให้ปอดบางส่วนแฟบได้ ถ้าไอนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือน้ำหนักลดควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเสมหะ หาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุ ข้อแนะนำ โรคนี้มักเป็นหลังจากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่และอาจไออยู่นาน 2 - 3 สัปดาห์ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี แต่ถ้าพบว่ามีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้เรื้อรัง อาจเป็นจากสาเหตุอื่น เช่น วัณโรค หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาล ถ้าไอมีเสมหะ ควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ และไม่ควรซื้อยาแก้ไอรับประทานเอง เพราะยาแก้ไอบางชนิดกดการไอ ทำให้เสมหะค้่งภายในไม่ถูกขับออกมาได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก

โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก

โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก หูของมนุษย์จะประกอบด้วยสามส่วนหลัก ได้แก่ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน หูชั้นกลางของเราจะมีการเชื่อมต่อกับช่องปากด้านหลังผ่านทางท่อเล็กๆ เรียกว่าท่อ ยูสเตเชี่ยนเมื่อเราเป็นหวัดมีการติดเชื้อบริเวณคอหรือจมูก หรือเป็นจมูกอักเสบ จากภูมิแพ้ ท่อยูสเตเชี่ยนจะบวมและตัน ทําให้เกิดการสะสมของน้ำในหูชั้นกลาง หากมีเชื้อในน้ำก็จะเกิดการอักเสบ ทําให้แก้วหูมีการบวมและปวดหูได้อย่างมากเกิดเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบขึ้นมา โรคหูชั้นกลางอักเสบพบได้ทุกวัย แต่มักพบบ่อยในเด็กอายุระหว่าง 3 เดือน ถึง 3 ปี ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคนี้ ได้แก่ อายุ : เนื่องจากเด็กเล็กจะมีโอกาสเกิดการอุดตันของท่อยูสเตเชี่ยน ได้มากกว่าเด็กโต เพศ : พบได้เพศชาย ได้มากกว่าเพศหญิง กรรมพันธุ์ : หากมีพ่อแม่พี่น้องที่เป็นหูอักเสบบ่อยๆ มักพบว่าเด็กจะมีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นหูอักเสบซ้ำซ้อน หวัดและภูมิแพ้ : ทั้งสองภาวะจะทําให้เกิดการอุดตันของท่อยูสเตเชี่ยน และนําไปสู่ภาวะติดเชื้อได้ง่ายๆ บุหรี่ : พบว่าการสูบบุหรี่ของบุคคลในบ้านเดียวกัน หรือในยานพาหนะที่เด็กเดินทาง ทําให้เด็กมีปัญหาสุขภาพได้หลายประการ รวมทั้งการติดเชื้อของหูชั้นกลางด้วย การดูดขวดนม : โดยเฉพาะการนอนดูดนมจะทําให้หูอักเสบได้บ่อยกว่าเด็กที่ทานนมแม่ หากจําเป็นต้องให้นมขวด ควรให้ในท่าที่ศีรษะเด็กอยู่สูงกว่ากระเพาะ เพื่อลดการสําลักและอุดตันของท่อยูสเตเชี่ยน ในเด็กที่มีอาการปวดหู แพทย์มักจะสั่งยาแก้ปวดลดไข้จําพวกพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเพนให้รับประทานเมื่อมีอาการปวด ไม่ควรซื้อยาแก้ปวดลดไข้ แอสไพรินให้เด็กรับประทานเอง เนื่องจากอาจทําให้เกิดอันตรายเสียชีวิตได้ ใน บางครั้งการประคบน้ำอุ่นที่หู อาจช่วยลดอาการปวดได้แต่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในเด็กเล็กกว่า 1 ปี เพราะอาจเกิดอาการบวมพองได้ การนอนยกศีรษะให้สูงขึ้นก็จะช่วยลดอาการปวดหูได้ในเด็กโตอาจให้เคี้ยวหมากฝรั่ง หากสามารถเคี้ยวโดยไม่กลืนได้ ส่วนในเด็กเล็กอาจให้ดูดน้ำอุ่นหรือนมบ่อยขึ้น ก็จะช่วยให้ท่อยูสเตเชี่ยนเปิดและลดอาการปวดหูได้บ้าง ในบางครั้งหูชั้นกลางอักเสบอาจไม่ดีขึ้นได้ แม้จะได้ยาปฏิชีวนะไปแล้ว ในกรณีที่เด็กยังมีอาการไข้หรือปวดหูอยู่หลังเริ่มรับประทานยาแล้ว 2 – 3 วัน ให้นําเด็กกลับมาตรวจซ้ำอีกครั้งกับกุมารแพทย์ ทั้งนี้แพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนยาปฏิชีวนะเป็นตัวอื่นที่เหมาะสม เนื่องจากบางครั้งเชื้ออาจไม่ได้ตอบสนองดีกับยาที่ใช้เดิมเสมอไป สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

ภาวะชักจากไข้สูง

ภาวะชักจากไข้สูง

เมื่อเด็กมีไข้และชักควรปฏิบัติอย่างไร ภาวะชักจากไข้มีพยากรณ์โรคที่ดีไม่ทําให้สติปัญญาถดถอยหรือมีการทําลายของเนื้อสมองอย่างถาวร ดังนั้นไม่ต้องตกใจควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ ป้องกันการอุดตันของเสมหะโดยจับเด็กนอนหงายหันศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือนอนตะแคงศีรษะต่ำเล็กน้อย ดูดเสมหะเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก ห้ามใช้สิ่งของเพื่องัดฟัน เช่น ด้ามช้อนหรือนิ้ว จะทําให้เกิดอันตรายต่อเด็กและยังจะทําให้ผู้พยาบาลเด็กได้รับบาดเจ็บไปด้วย คลายเสื้อผ้าออกเพื่อสะดวกต่อการปฐมพยาบาล เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำก๊อกเพื่อคลายความร้อน ไม่พยายามเขย่าหรือตีเด็ก ถ้าชักเกิน 10 นาทีหรือชักซ้ำ ขณะที่ยังไม่ฟื้นเป็นปกติ ต้องรีบนําเด็กส่งโรงพยาบาลพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและการรักษาที่ถูกต้อง ข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันชักเมื่อเด็กมีไข้ ให้ยาลดไข้ เมื่อเริ่มมีไข้ทุก 4-6 ชั่วโมง เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดา การให้ยากันชักมีข้อบ่งชี้คือ คนไข้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการกลายเป็นโรคลมชัก มีประวัติชักโดยไม่มีไข้ในครอบครัว และมีการพัฒนาที่ผิดปกติก่อนชัก หรือชักเฉพาะที่ เด็กที่ชักจากไข้ไม่ต้องให้ยาป้องกันชัก ในบางกรณีที่ผู้ปกครองกังวลมากอาจเลือกใช้ยาป้องกันอาการชักเฉพาะ เมื่อเด็กมีไข้เท่านั้น แต่ยาดังกล่าวจะมีผลข้างเคียงทําให้เด็กง่วงซึมและมีความเสี่ยงต่อการบดบังอาการของการติดเชื้อขึ้นไปบนสมองได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

ภาวะฉุกเฉินในเด็ก

ภาวะฉุกเฉินในเด็ก

วัยเด็กเป็นวัยที่เปราะบาง และต้องอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ โดยผู้ใหญ่จะต้องเป็นผู้ที่คอยสังเกตความผิดปกติ โดยหากมีอาการดังต่ไปนี้ ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินและควรนำบุตรหลานส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอย่างเร่งด่วน เมื่อเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เช่น กินสารพิษ กินยาเกินขนาด หรือเลือดออกไม่หยุด หลังจากที่พยายามห้ามเลือดแล้ว เช่น การกด ฯลฯ หมดสติ เรียกไม่รู้สึกตัว ถูกงูกัด สัตว์มีพิษหรือแมลงต่อยแล้วเกิดอันตรายรุนแรงใน 30 นาที เช่น มีไข้ ปวดข้อ ปวดศีรษะ ลมพิษขึ้นทั้งตัว แน่นในคอ บวมมาก หมดสติ หายใจไม่ออก หายใจลําบาก กระวนกระวายหรือหน้าเขียว เด็กอาจชักเมื่อไข้สูงหรือลมบ้าหมู ให้เด็กนอนเอียงหน้า เอาเศษอาหาร ในปากหรือจมูกออก ห้ามเอาของแข็งหรือช้อนงัดปาก ถ้ามีไข้เช็ดตัวด้วย น้ำธรรมดา แล้วรีบพาเด็กไปห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด อย่าพยายามกรอกยาขณะเด็กชัก ปวดท้องรุนแรง งดอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามกินยาถ่าย ถ้ามีไข้และ อาเจียนด้วย อาจเป็นไส้ติ่งอักเสบหรือโรคอื่นๆ อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด หรือเป็นสีดําจํานวนมาก อาจเป็นเพราะมีเลือดออกในกระเพาะหรือลําไส้ ท้องเสียในเด็กอ่อน เด็กเล็กๆ ถ่ายเพียง 3 - 4 ครั้ง ก็เสียน้ำได้มากๆ ถ้าเด็กมีอาการกระวนกระวาย ตัวร้อน ผิวแห้ง ปัสสาวะน้อยแสดงว่าขาดน้ำมาก สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช ฌรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

ไข้เลือดออก...ติดซ้ำร้ายแรงกว่าเดิม

ไข้เลือดออก...ติดซ้ำร้ายแรงกว่าเดิม

ไข้เลือดออก...ติดซ้ำร้ายแรงกว่าเดิม โรคไข้เลือดออกเด็งกี่ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคนี้ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 100 ประเทศที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยังคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 40 หรือกว่า 2,500 ล้านคน สถิติในประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศฟิลิปปินส์ โดยกลุ่มอายุที่เป็นไข้เลือดออกมากที่สุด คืออายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปีตามลำดับ ความรุนแรงสูงสุดของโรคไข้เลือดออกคือ ทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉลี่ย ถ้าหากมีผู้ป่วย 1,000 ราย จะเสียชีวิต 1 ราย โดยสองสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก็คือภาวะเลือดออกมาก และสารน้ำรั่วจากเส้นเลือดจนเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิต การแพร่ระบาด กระบวนการแพร่เชื้อไวรัสของโรคนี้นั้น เกิดจากยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดของผู้ที่เป็นโรคไข้เลือดออกก่อน หลังจากนั้น เมื่อยุงลายตัวเดิมกัดคนที่อยู่ในระยะทางไม่เกิน 400 เมตร เชื้อดังกล่าวก็จะแพร่เข้าสู่คนที่สองนั้นทันที ซึ่งยุงชนิดนี้สามารถกัดคนได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มักพบได้ในบริเวณที่มีการเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งในบริเวณบ้าน สาเหตุไข้เลือดออก ไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งในประเทศไทยพบมีการระบาดของทั้งสี่สายพันธุ์ในแต่ละพื้นที่ จึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคไข้เลือดออกซ้ำ จากเชื้อคนละตัวได้ อาการไข้เลือดออก ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเด็งกี่ ส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกและมีจุดแดงที่ผิวหนัง ซึ่งอาการสำคัญแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะคือ ระยะไข้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส อย่างเฉียบพลัน เป็นเวลา 2-7 วัน บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง ไม่มีน้ำมูกหรือไอ เบื่ออาหาร อาเจียน ตับโต กดเจ็บ มีผื่นตามตัว มีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามผิวหนัง ลำตัว แขน ขา รักแร้ เนื่องจากเส้นเลือดเปราะหรือการทำ Tourniquet test จะพบจุดเลือดออก อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน หรือถ่ายเป็นสีดำ ระยะวิกฤต/ช็อก อาการจะเลวลงเมื่อไข้ลดลงกะทันหัน ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบๆ ปากเขียว บางรายอาจมีอาการปวดท้องมาก่อนจะมีอาการช็อก ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ถ้าให้การรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตใน 12-24 ชั่วโมง แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกต้องและทันเวลา ผู้ป่วยจะหายได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลงอาการต่างๆ จะดีขึ้น ส่วนใหญ่ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว อาจมีเหงื่อออกมากและมือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว แต่จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ จะกลับเป็นปกติ เริ่มรู้สึกอยากอาหาร ซึ่งจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้ป่วยพ้นระยะอันตราย ระยะฟื้นตัว อาการโดยทั่วไปดีขึ้นอย่างชัดเจน ความดันโลหิตและชีพจรปกติ ตับที่โตจะลดขนาดลงภายใน 1-2 สัปดาห์ มักจะมีผื่นแดงที่ขา ปลายมือปลายเท้าและมีอาการคัน ป่วยซ้ำได้ คนหนึ่งคนสามารถเป็นไข้เลือดออกได้มากกว่าหนึ่งครั้งและในครั้งถัดมาของการติดเชื้อ อาการของโรคมักจะหนักมากกว่าครั้งก่อน มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะในการได้รับเชื้อไข้เลือดออกในครั้งแรกร่างกายของเราจะมีระบบภูมิคุ้มกันโดยการสร้างภูมิต้านทานออกมาต่อสู้กับการเชื้อไวรัส แต่ภูมิต้านทานไม่ได้อยู่ถาวรหรือป้องกันชนิดอื่นๆ สามารถป้องกันได้เพียงสายพันธุ์ที่เคยติดมาแล้ว เมื่อได้รับเชื้อไข้เลือดออกซ้ำในครั้งที่สองแต่คนละสายพันธุ์ภูมิต้านของเราในร่างกายเราจึงเกิดอาการสับสน และทำงานได้ไม่ดีพอ ไม่สามารถสู้กับเชื้อไวรัสได้อย่างทันเวลา หรือบางรายภูมิต้านทานที่เคยเป็นเกราะป้องอาจกลับผันตัวเองไปเป็นตัวช่วยให้เชื้อไวรัสนั้นแข็งแรงขึ้น กระจายตัวได้มากขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้การติดเชื้อครั้งที่สองหรือครั้งต่อมายิ่งรุนแรงขึ้นนั้นเอง การดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ คือ เช็ดตัวลดไข้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการชัก ให้ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอล “ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพริน” เพราะจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้เลือดออกง่าย ให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร อาเจียนและอ่อนเพลีย ควรให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ โดยดื่มทีละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ ให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เมื่อสงสัยว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยมีไข้สูงลอย เกิน 38.5 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน หรือหน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว จะทำให้ลดการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้ การป้องกัน ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนกางมุ้งหรือมีมุ้งครอบ แม้ตอนกลางวัน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย โดยกำจัดลูกน้ำในภาชนะต่างๆ ที่มีน้ำขัง ด้วยการใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชู เช่น ใส่ลงในขารองตู้กับข้าว ปิดฝาภาชนะสำหรับเก็บน้ำให้มิดชิด เช่น โอ่ง ถังเก็บน้ำ หมั่นเปลี่ยนหรือทิ้งน้ำในภาชนะบรรจุน้ำและภาชนะที่มีน้ำขัง เพื่อป้องกันยุงมาวางไข่ เช่น แจกัน จานรองกระถางต้นไม้ เก็บทำลายเศษวัสดุ เช่น ขวด กระป๋อง เพื่อไม่ให้รองรับน้ำได้ ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ไม่มีฝาปิดหรือแหล่งน้ำใกล้บ้าน ตัดต้นไม้ที่รกครึ้ม เพื่อให้มีแสงสว่างและอากาศถ่ายเทได้ดี ป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงลายกัด ด้วยการดูแลหน้าต่าง ประตู ช่องลม ไม่ให้ยุงเข้า จัดข้าวของในบ้านไม่ให้กองสุมกัน รวมถึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดยุง และทากันยุงให้ถูกต้อง ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ฺBDMS สถานีสุขภาพ