แคดเมียมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านทางระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร จะเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตจับกับโปรตีน albumin ถูกส่งไปที่ตับ ทำให้มีอาการอักเสบที่ตับ บางส่วนของแคดเมียมจะจับตัวกับโปรตีนอีกชนิดหนึ่ง (metallothionein) เข้าไปสะสมในตับและไต และถูกขับออกทางปัสสาวะ
โดยขบวนการขับแคดเมียมออกจากไตเกิดขึ้นช้ามาก ใช้เวลาถึงประมาณ 20 ปี ถึงสามารถขับแคดเมียมออกได้ครึ่งหนึ่งของแคดเมียมที่มีการสะสมอยู่ในไตออกได้ ทำให้มีอาการกรวยไตอักเสบ ผู้ที่ได้รับแคดเมียมเรื้อรัง มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งปอด ไต ต่อมลูกหมาก และตับอ่อน มีรายงานผู้ป่วยที่กินข้าวที่เพาะปลูกจากแหล่งที่ดินมีการปนเปื้อนแคดเมียม จะมีอาการของโรคกระดูกพรุน และกระดูกมีการเจริญที่ผิดปกติ รวมถึงโรคอิไต-อิไต (Itai-Itai disease) อีกด้วย
แคดเมียมอันตรายต่อร่างกายอย่างไร
- ผลเฉพาะที่
ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ ถ้าสัมผัสนานๆ อาจทำให้ความรู้สึกในการรับกลิ่นเสียไป และเกิดคราบ หรือวงสีเหลืองที่คอฟันทีละน้อย หลังจากที่แคดเมียมถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีครึ่งชีวิตที่ยาวนาน และคงอยู่ในตับและไต
- ผลต่อร่างกาย
พิษเฉียบพลันส่วนใหญ่ เกิดจากการหายใจเอาฝุ่น หรือฟูมแคดเมียม ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อแคดเมียมถูกทำให้ร้อน โดยทั่วไป ระยะเวลาหลังจากสัมผัสสารจะยาวนาน 2-3 ชั่วโมงก่อนแสดงอาการ อาการเริ่มแรกจะมีการระคายเคืองเล็กน้อยของทางเดินหายใจส่วนต้น อีก 2-3 ชั่วโมงต่อมา จะมีอาการไอ เจ็บปวดใน ทรวงอก เหงื่อออกและหนาวสั่น ซึ่งเป็นอาการที่ คล้ายกับการติดเชื้อทั่วไปของทางเดินหายใจส่วนต้น
ต่อมา 8-24 ชั่วโมง หลังจากสัมผัสสารอย่างฉับพลัน อาจเห็นอาการระคายเคืองอย่างแรงที่ปอด เจ็บปวดในทรวงอก หายใจลำบาก ไอ และอ่อนเพลีย อาการหายใจลำบากจะรุนแรงขึ้น เมื่อเกิดน้ำท่วมปอดตามมา อันตรายจากกรณีเช่นนี้ มีถึง 15% ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอาจมีฟองอากาศในเนื้อเยื่อ และเนื้อปอดปูดนูนออกมา ซึ่งต้องใช้เวลานานในการรักษาให้หาย มีรายงานว่า พบพิษเรื้อรังเกิดขึ้น หลังจากสัมผัสฟูมแคดเมียมออกไซด์เป็นเวลานาน
การรักษาเบื้องต้น
หากร่างกายได้รับแคดเมียมจากการบริโภคอาหาร ให้ดื่มนมหรือบริโภคไข่ที่ตีแล้ว เพื่อลดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร หรืออาจทําให้ถ่ายท้องด้วย Fleet’s Phospho Soda (เจือจาง 1:4 ด้วยนํ้า) 30-60 มิลลิกรัม เพื่อลดการดูดซึมแคดเมียม
ที่มา : เว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ https://www.thaihealth.or.th/?p=360223
โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรีมีบริการตรวจ ที่แผนก check up ทุกวันพุธ
ตรวจด้วยการเก็บปัสสาวะ การเตรียมตัว (หลีกเลี่ยงอาหารทะเลอย่างน้อย 3 วัน ก่อนตรวจ) รู้ผลใน 7 วัน ราคาประมาณ 1,500 บาท (รวมค่าบริการและค่าแพทย์)
ตรวจจากเลือด (หาสารแคดเมียม) ไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร รู้ผลใน 5 วัน ราคาประมาณ 1,500 บาท (รวมค่าบริการและค่าแพทย์)
หมายเหตุ วิธีการเลือกตรวจขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณาตามความเสี่ยงที่สัมผัสสาร จึงจำเป็นต้องพบแพทย์ก่อนตรวจทุกราย
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่แผนกส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888