จากกรณีที่ ราชกิจจานุเบกษา แพร่ “กฎ ก.พ.ว่าด้วยโรค 2566”กำหนด "4 โรคห้ามเข้ารับราชการ" ชวนรู้จักใบรับรองแพทย์ 5 โรค ที่เป็นพื้นฐานของหลายบริษัท สถานศึกษา และงานราชการ ต้องคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น 5 โรคมีอะไรบ้าง ?
จากกรณีที่18 สิงหาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ “กฎ ก.พ.ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2566” 4 โรคต้องห้ามรับราชการที่ประกอบด้วย
- โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
- โรคติดยาเสพติดให้โทษ
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
- โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ (ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการแพทย์ ของ ก.พ. กำหนด)
เพื่อให้ทางราชการได้มาและรักษาไว้ซึ่งบุคคลที่เป็นผู้มีสุขภาพทางกายและจิตเหมาะสม และไม่เป็นโรคร้ายแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ได้มีการยกเลิก “โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ” ออกจากลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน เนื่องจากโรควัณโรคมีแนวโน้มที่ลดลงและใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ ก็สามารถหายได้
ชวนรู้จักคัดกรองขอใบรับรองแพทย์ 5 โรค คืออะไร ?
การเข้าทำงานเป็นพนักงานหรือเข้าศึกษาในสถาบันหลายแห่ง จำเป็นต้องผ่านการตรวจโรคหรือตรวจร่างกายหลายอย่างเพราะการมีสุขภาพที่ดีและไม่มีโรคติดต่อร้ายแรงเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่มักมีกำหนดไว้ ดังนั้น เมื่อเราผ่านการคัดเลือกแล้ว ทางต้นสังกัดจะให้เราไปตรวจร่างกายตามสถานพยาบาลที่เชื่อถือได้ หากผู้เข้ารับการตรวจมาพร้อมกับแบบฟอร์มที่มีรายการตรวจจากต้นสังกัดว่าต้องการผลตรวจอะไรบ้าง? ก็จะทำให้แพทย์ตรวจได้ตรงตามความต้องการ แต่ผู้เข้ารับการตรวจบางท่านก็ทราบเพียงแต่ว่า ต้องการตรวจสุขภาพเพื่อให้ได้ “ใบรับรองแพทย์ 5 โรค” ส่วน 5 โรคที่ว่านั้นจะมีโรคอะไรบ้าง? แล้วทำไมต้องตรวจ 5 โรคนี้ ผู้เข้ารับการตรวจอาจจะยังไม่ทราบโดยทั่วไปแล้วจะประกอบด้วย 5 โรค ดังนี้
- วัณโรคในระยะแพร่เชื้อ
- โรคเท้าช้าง
- โรคที่เกิดจากสารเสพติด
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
- โรคอื่นๆ ที่เรื้อรัง ร้ายแรง หรือมีอาการแสดงอย่างชัดเจนจนเป็นอุปสรรคต่อทำงานหรือการเรียน
มาตรฐานของการตรวจสุขภาพเพื่อขอใบรับรองแพทย์ 5 โรค ?
การตรวจ 5 โรคตามที่กล่าวมานั้น แพทย์สามารถตรวจและวินิจฉัยได้ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และดูอาการเบื้องต้น โดยไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดหรือตรวจปัสสาวะเลย แต่ในบางรายหากต้นสังกัดระบุมาว่า ต้องการผลเลือด ผลปัสสาวะ หรือผลการเอกซเรย์ใดๆ เพื่อยืนยันว่าผู้เข้ารับการตรวจมีสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม การตรวจก็อาจจะแตกต่างไป ดังนั้น การตรวจสุขภาพจึงอยู่ที่ต้นสังกัดว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไรและต้องการตรวจอะไรบ้าง ละเอียดแค่ไหน? เพื่อจะได้ตรวจให้ครบถ้วนและมีใบแจ้งผลที่สมบูรณ์ สามารถนำไปใช้ประกอบการเข้าทำงานสถานประกอบการ รับราชการหรือการศึกษาต่อได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ