ม่านตาอักเสบ (Iritis / Anterior uveitis)

ม่านตาอักเสบ เป็นโรคที่พบได้น้อย พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในวัยหนุ่มสาว อาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือพยาธิ หรืออาจเกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้หรือออโตอิมมูน (autoimmune) ก็ได้

 

สาเหตุม่านตาอักเสบ

  • การลุกลามของโรคติดเชื้อภายนอกลูกตา เช่น แผลที่กระจกตา กระจกตาอักเสบ เยื่อตาขาวอักเสบ

  • การกระทบกระเทือน เช่น ถูกแรงกระแทกที่บริเวณกระบอกตา

  • อาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น วัณโรค ซิฟิลิส โรคเรื้อน สมองอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปวดข้อรูมาตอยด์

**การเกิดม่านตาอักเสบในบางครั้ง อาจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน

 

อาการม่านตาอักเสบ

  • ปวดตา บางคนอาจปวดมากเมื่ออยู่ที่แจ้ง แต่จะดีขึ้นเมื่ออยู่ในที่ร่ม

  • เคืองตา น้ำตาไหล

  • ตามัว

  • ตาขาวแดงเรื่อ ๆ โดยเฉพาะบริเวณที่ใกล้กับตาดำ โดยไม่มีขี้ตา

 

อาการแทรกซ้อน

ในรายที่เป็นรุนแรง ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีเม็ดขาว (หนอง) ที่เกิดจากการอักเสบไปอุดกั้นทางระบายของน้ำเลี้ยงลูกตา ทำให้กลายเป็นต้อหินได้ ในรายที่เป็นนาน ๆ อาจทำให้เป็นต้อกระจกได้เช่นกัน

 

การรักษา

โรคนี้ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย มักจะค่อย ๆ หายไปได้เอง ถึงแม้ไม่ได้รับการรักษา แต่ถ้ามีการอักเสบรุนแรง การรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้

บางคนอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง แต่ในที่สุด มักจะหายขาดได้เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ และให้ยาหยอดตาที่ทำให้รูม่านตาขยาย เช่น ยาหยอดตาอะโทรฟีน (Atropine eye drop) หรือยาสเตียรอยด์หยอดตา เป็นต้น

 

ข้อแนะนำ : หากมีอาการปวดตา ตาแดง ร่วมกับตามัว รูม่านตาไม่เท่ากัน หรือกระจกตาขุ่น ควรปรึกษาแพทย์ด่วน

 

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกจักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319896